วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความรู้ทั่วไป

มลพิษ

มลพิษ หรือ มลภาวะ หมายถึง ของเสีย วัตถุอันตราย และมลสารอื่น ๆ รวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้นที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และหมายความรวมถึง รังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุรำคาญอื่น ๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย

คำว่า มลพิษ และ มลภาวะ

ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมาสองคำคือ มลภาวะ และ มลพิษ ที่มีความหมายตรงกับคำว่า pollution ในภาษาอังกฤษ โดยคำว่า "มลพิษ" บัญญัติขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2519 จากคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย ขณะที่คำว่า "มลภาวะ" บัญญัติโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอให้ราชบัณฑิตทบทวนคำว่า "พิษ" ในคำว่ามลพิษ ที่มีความหมายเฉพาะเจาะจงซึ่งควรให้ครอบคลุมมากกว่า แต่ทางราชบัณฑิตได้พิจารณาแล้วว่าความหมายที่หมายถึงการมีพิษและการปนเปื้อนมีความหมายตรงกว่าและถ่ายทอดความหมายได้ดีกว่า จึงกำหนดให้ใช้ มลพิษ ต่อไป และมีการใช้ควบคู่กับคำว่า "มลภาวะ"


กรมควบคุมมลพิษ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2535 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 โดยให้เป็นไปตาม
  • พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2535 (ยุบสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และปรับปรุงเป็นส่วนราชการใหม่ ๓ กรม ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม)
  • พระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ไปเป็นของกรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
  • พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
  • พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 (จัดตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษได้โอนมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)


    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2545 ดังต่อไปนี้
    กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
    เสนอความเห็นเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านการควบคุมมลพิษ
    เสนอแนะการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด
    จัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรการในการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ
    ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและจัดทำรายงานสถานการณ์มลพิษ
    พัฒนาระบบ รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับระบบต่างๆเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการ กากของเสีย สารอันตราย คุณภาพน้ำ อากาศ ระดับเสียงและความสั่นสะเทือน
    ประสานงานและดำเนินการเกี่ยวกับการฟื้นฟูหรือระงับเหตุที่อาจเป็นอันตรายจากมลพิษในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษและประเมินความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
    ให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการจัดการมลพิษ
    ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศในด้านการจัดการมลพิษ
    ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องราวร้องทุกข์ด้านมลพิษ
    ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้านการควบคุมมลพิษและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
    ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

    บทบาทและภารกิจทั่วไป ซึ่งถือปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยให้อำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ และเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ในการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ ซึ่งได้แก่ การเสนอความเห็นในการจัดกำหนดนโยบายด้านการควบคุมมลพิษของประเทศ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรฐานคุณภาพน้ำในแม่น้ำลำคลอง น้ำทะเลชายฝั่ง คุณภาพอากาศในบรรยากาศ ฯลฯ (การกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด (มาตรฐานน้ำทิ้งจากอาคารต่างๆ น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรม มาตรฐานไอเสียจาก ยานพาหนะต่างๆ ฯลฯ) การจัดทำแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรการควบคุมมลพิษ (การจัดการขยะมูลฝอย การจัดการของเสียอันตราย การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ฯลฯ) การติดตามตรวจสอบสถานการณ์มลพิษ รับเรื่องราวร้องทุกข์ด้านมลพิษ และดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านการควบคุมมลพิษ
    บทบาทและภารกิจดังกล่าวตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ. 2535 มิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจลบล้างหรือเข้าแทนที่อำนาจการจัดการน้ำเสียหรือของเสียอื่นๆ ที่ออกตามกฎหมายอื่นหรือของหน่วยงานอื่น แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านการควบคุมมลพิษโดยเฉพาะ เอื้อประโยชน์ สนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานของหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม และอุดช่องว่างในกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ตัวอย่างเช่น เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษแม้มีอำนาจเข้าไปทำการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม หากพบว่ามีการละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายก็ไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที แต่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายโรงงานให้เป็นผู้ดำเนินการ ต่อเมื่อปรากฎว่าเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่ดำเนินการแก่ผู้กระทำผิดภายในเวลาอันสมควร เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษจึงจะมีอำนาจ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนตามกฎหมาย หรือกรณีการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่นก็สามารถดำเนินการได้ แต่มาตรฐานดังกล่าวต้องเข้มงวดกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ออกตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ. 2535 เป็นต้น

    วิสัยทัศน์
    องค์กรหลักขับเคลื่อนทุกภาคส่วนในการสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อประชาชน
    พันธกิจ
    1. เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการจัดการมลพิษ และขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วม
    2. พัฒนามาตรฐาน มาตรการ และเกณฑ์ปฏิบัติด้านการจัดการมลพิษที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี
    3. พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและสารสนเทศการจัดการมลพิษ
    4. ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และรายงานต่อสาธารณะ
    5. ติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐาน มาตรการควบคุมมลพิษ อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
    6. ประสานและดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านมลพิษ
    ค่านิยม คพ.
    มุ่งมั่นทำงานด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เป็นทีม เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
    (We are dedicated to working with transparency, equity, teamwork for the benefit of the people)
    ประเด็นยุทธศาสตร์
    1. ป้องกัน ควบคุม ลดและขจัดมลพิษในระดับพื้นที่
    2. พัฒนาและสนับสนุนการดำเนินงานตามกฎหมาย ระเบียบ และเกณฑ์การปฏิบัติด้านการควบคุมมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ
    3. เสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายในการป้องกัน ควบคุม ลดและขจัดมลพิษ
    4. การพัฒนาและบริหารจัดการองค์กร
    เป้าประสงค์ขององค์กร 
    1. พื้นที่เป้าหมายมีระบบการบริหารจัดการมลพิษตามเกณฑ์ที่กำหนด
    2. เป็นองค์กรทันสมัยและมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการองค์กร 
     กลยุทธ์
    กลยุทธ์การดำเนินงานตามประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 
    1.สร้างการยอมรับอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการจัดการมลพิษในพื้นที่
    2.สนับสนุนผลักดันระบบการบริหารจัดการมลพิษที่เหมาะสมในระดับพื้นที่
    3.ยกระดับความสามารถในการรองรับภาวะวิกฤตและเหตุฉุกเฉินด้านมลพิษ
    กลยุทธ์การดำเนินงานตามประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2
    1.พัฒนาและผลักดันการปฏิบัติตามมาตรฐาน มาตรการ และเกณฑ์ปฏิบัติในการควบคุมมลพิษให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลภายใต้กรอบเวลาที่เหมาะสม
    2.พัฒนาศักยภาพเจ้าพนักงานตามกฎหมายทั้งภายในและภายนอกกรมควบคุมมลพิษ
    3.ใช้กลไกบริหารจัดการภาครัฐทุกรูปแบบเพื่อการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
    4.ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินงานด้านต่างๆ
    กลยุทธ์การดำเนินงานตามประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3
    1.สนับสนุนให้เกิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการควบคุมมลพิษในสาขาต่างๆ
    2.พัฒนาสารสนเทศเพื่อเป็นแหล่งที่ปรึกษาแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและองค์ความรู้การจัดการมลพิษเพื่อการตัดสินใจ
    3.ยกระดับสมรรถนะของระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศด้านมลพิษ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
    กลยุทธ์การดำเนินงานตามประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4
    1.พัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคล
    2.ผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ในองค์กรด้วยช่องทางที่หลากหลาย รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายมลพิษทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
    3.ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร การแบ่งบทบาทและขอบข่ายงานเพื่อเพิ่มขีดสมรรถนะในการดำเนินงาน
    4.เสริมสร้างค่านิยมด้านธรรมาภิบาลอย่างเป็นระบบ
    5.พัฒนาด้านการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และความรู้เรื่ององค์กร

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น